0
0.00
ทำความรู้จักกับหัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ เคล็ดลับทำงานดีเรียนเก่ง
ทำความรู้จักกับหัวใจนักปราชญ์ สุ จิ ปุ ลิ เคล็ดลับทำงานดีเรียนเก่ง

สุ จิ ปุ ลิ คืออะไร ทำไมจึงเรียกกันว่าหัวใจนักปราชญ์ วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกัน

ในทางพุทธศาสนามีหลักสำคัญหนึ่งที่เรียกว่า "หัวใจนักปราชญ์” ที่กล่าวกันว่าจะช่วยสร้างบุคคลให้เป็นพหูสูตได้ ซึ่งหมายถึง เป็นผู้มีปัญญารอบรู้ เป็นผู้ศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาการมาก และสามารถจำไว้ได้เป็นอย่างดีจนกลายเป็นผู้รู้หรือปราชญ์นั่นเอง


แน่นอนว่า ผู้ใดก็ตามที่เป็นผู้มีปัญญา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียนหรือเรื่องทำงาน ย่อมทำให้คนผู้นั้นเรียนเก่งและมีความสามารถในการทำงานอย่างดีได้แน่นอน

ซึ่ง "หัวใจนักปราชญ์” ประกอบด้วย "สุ จิ ปุ ลิ” คือ สุ ย่อมาจาก สุตะ คือ การฟัง จิ ย่อมาจาก จินตะ คือ การคิด ปุ ย่อมาจาก ปุจฉา คือ การถาม และ ลิ ย่อมาจาก ลิขิต คือ การเขียน ทั้งสุ จิ ปุ ลิ ต่างเป็นแนวทางที่ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดผลเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถได้ดังนี้

1. สุ (สุตะ)
หมายถึง การฟัง นับเป็นทักษะพื้นฐานที่สุดในการแสวงหาความรู้ของมนุษย์ ผู้ใดที่ฟังมาก ย่อมได้รับความรู้มาก และรอบรู้กว้างขวางกว่าผู้อื่น ต่อมาเมื่อเรามีหนังสือ "การอ่าน” ก็นับเป็น สุตะ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการฟังหรือการอ่าน ต่างก็เป็นการรับข้อมูลเบื้องต้นในการศึกษาหาเล่าเรียนทั้งสิ้น

2.  จิ (จินตะ)
หมายถึง การคิด เป็นสิ่งต่อเนื่องจากการฟังหรือการอ่าน กล่าวคือ เมื่อได้ฟังได้อ่านสิ่งใดแล้วก็ตาม โดยทั่วไปคนเราจะคิดไตร่ตรอง หรือวิเคราะห์สิ่งที่ฟังหรืออ่านในใจไปด้วย จากนั้นก็นำข้อมูลเหล่านี้มาจัดระบบเป็นความคิดของเรา ซึ่งหากมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจ เราก็อาจจะจดหรือจำไว้ เพื่อค้นคว้าหาคำตอบต่อไป การคิดจึงเป็นกระบวนการย่อยหรือแยกแยะสิ่งที่ได้ฟังได้อ่านมาเป็นความรู้ของตัวเอง และทำให้คนผู้นั้นเกิดปัญญาอันมาจากความคิดนี้ได้ แต่แม้จะได้อ่านได้ฟังข้อมูลข่าวสารมามากมายเพียงใด ก็ต้องรู้จักตรึกตรองวิเคราะห์ให้รอบคอบ มิเช่นนั้นเราจะตกเป็น "เหยื่อ” ได้ง่าย แต่ถ้าเรารู้จัก "คิด” ก็จะเกิด "ปัญญา”ตามมา

3. ปุ (ปุจฉา)
หมายถึง การถาม จาก 2 ข้อแรก เมื่อได้อ่าน-ฟัง และคิดแล้วก็ตาม หลายครั้งเราก็อาจเกิดข้อสงสัยไม่เข้าใจ ไม่แน่ใจ คิดไม่ตก หรือแก้ปัญหาไม่ได้  สิ่งที่จะต้องทำก็คือ “การถาม” ด้วยการสอบถามจากครูอาจารย์ ผู้มีความรู้ หรือมีประสบการณ์ในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องอาย หรือทนงตน คิดว่าตัวเองเหนือกว่า เพราะโดยแท้จริงแล้วไม่มีใครรอบรู้ทุกเรื่องได้เสมอไป

4. ลิ (ลิขิต)
หมายถึง การเขียน เป็นข้อสุดท้ายและสำคัญที่สุดของ "หัวใจนักปราชญ์” เพราะการเขียนเป็นดังบทสรุปของการฟัง-อ่าน คิด ถาม เพราะคนที่จะ "เขียน” ได้ นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ จนสามารถเรียบเรียงสิ่งที่เป็นความรู้สึกนึกคิดออกมาเป็นความรู้ให้ผู้อื่นเข้าใจหรือรับรู้ได้นั่นเอง
ปัจจุบันนี้แม้จะบอกว่าทุกคนล้วนแต่ "เขียน” ได้ แต่ก็มิใช่ว่าแต่ละคนจะสามารถสื่อสารสิ่งที่ต้องการหรือแสดงความคิดของตนเองผ่านการ "เขียน”ได้ดีทุกคน ซึ่งการเขียนจึงถือเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้อื่นได้รับรู้ความคิดของเราได้นี้เอง

บุญรักษาหวังว่าหลักธรรมดี ๆ ที่นำมาฝากกันนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อน ๆ ไม่มากก็น้อย



ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก เว็บไซต์กรมส่งเสริมวัฒนธรรม

+