0
0.00
รู้หรือไม่ ประเพณีปักธงชัย คืออะไร?
รู้หรือไม่ ประเพณีปักธงชัย คืออะไร?

ร่วมสืบสานวัฒนธรรมไทยในท้องถิ่น กับประเพณีปักธงชัย ที่หลายท่านอาจยังไม่รู้จัก...
แท้จริงแล้วประเพณีปักธงชัยนั้น เป็นประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของอ.นครไทย จ.พิษณุโลก จัดเป็นประเพณีหนึ่งที่ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน เป็นประเพณีที่ชาวนครไทยจะจัดทำขึ้นในวันที่ 14 -15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของชุมชน

ชาวนครไทยในอดีตที่ประกอบด้วย ชาวบ้านวัดหัวร้อง บ้านในเมือง บ้านวัดเหนือ บ้านหนองลานและหมู่บ้านใกล้เคียงจะนำธงที่ชาวบ้านร่วมกันทอไปปักที่เขาช้างล้วง ซึ่งเป็นเทือกเขาที่ทอดตัวขนานไปกับถนนสายนครไทย - ชาติตระการ ห่างจากตัวอ.นครไทยไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 6 กม. เป็นประจำทุกปี

ชาวนครไทยส่วนใหญ่ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการนำธงไปปักบนยอดเขาช้างล้วงและความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีปักธง ที่พอสรุปได้ดังนี้

1.เชื่อว่าการปักธงจะทำให้บ้านเมืองอยู่เย็นเป็นสุข กินดีอยู่ดี และเชื่อว่าถ้าปีใดไม่ไปปักจะทำให้เกิดภัยพิบัติหรือเพทภัยต่าง ๆ ที่ทำให้ชาวบ้านเกิดความเดือดร้อนหรือเสียชีวิตได้

2.ปักธงเพื่อระลึกถึงพ่อขุนบางกลางหาว เมื่ออพยพมาอยู่ที่เมืองนครไทย(บางยาง) ครั้งแรกได้เกิดการสู้รบกับพวกเจ้าของถิ่นเดิมที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ มีการต่อสู้รุกไล่กัน จนถึงเทือกเขาช้างล้วง ทัพของพ่อขุนบางกลางหาวประสบชัยชนะ จึงเอาผ้าคาดเอวของพระองค์ผูกปลายผ้า ปักที่ยอดเขาช้างล้วง ไว้เป็นอนุสรณ์ที่มีชัยชนะแก่ศัตรู  และพระองค์ได้สั่งลูกหลานทั้งหลายไปปักธงจุดชนะศึก เพื่อรำลึกถึงชัยชนะของพระองค์ทุกปี ถ้าปีใดไม่ขึ้นไปปักก็ขอให้มีอันเป็นไป

3. ผู้ปกครองนครไทย คิดระบบการส่งข่าวสาร  เนื่องจากสมัยก่อน พวกฮ่อมักจะยกพวกมารังแกชาวนครไทย  จึงมีข้อตกลงกันระหว่างแม่ทัพนายกองว่า เมื่อใดเห็นผ้าขาวม้าชักขึ้นไปปักบนยอดเขาช้างล้วง ก็ให้เตรียมพลต่อสู้ศัตรูเพื่อป้องกันบ้านเมืองนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ประเพณีดังกล่าวล้วนสะท้อนที่มา วิถีชีวิต และความคิดความเชื่อของคนในชุมชนอ.นครไทยได้ทั้งสิ้น ทั้งยังมีคุณค่าทางจิตใจต่อคนในชุมชนอย่างมาก และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเพณีท้องถิ่นยังสร้างความรักความสามัคคีให้แก่คนในชุมชนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

 ขอขอบคุณแหล่งที่มา เว็บไซต์สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก

+