0
0.00
ทำไมต้องมีพิธีทอดผ้าบังสุกุลในงานศพ ?
ทำไมต้องมีพิธีทอดผ้าบังสุกุลในงานศพ ?

ทำไมต้องมีพิธีทอดผ้าบังสุกุลในงานศพ ?

คำว่า “บังสุกุล” นั้นหมายถึง คลุกฝุ่น หรือเปื้อนฝุ่น ซึ่งใช้เรียกผ้าที่พระชักจากศพในสมัยก่อน ที่มาของการชักผ้าบังสุกุลนั้นมีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย ในสมัยพุทธกาลชาวบ้านจะนำศพไปทิ้งที่ป่าช้า พระที่แสวงหาผ้าก็จะไปดึงหรือชักผ้าที่ห่อไว้กับศพ นำมาซัก ตัด เย็บ หรือย้อมก็ดี ก่อนจะนำมาใช้ เพื่อแสดงความเป็นผู้มักน้อย ถือสันโดษตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประทานไว้ ภายหลังพระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุรับคหบดีจีวรคือจีวรของชาวบ้านได้ ทำให้พระภิกษุได้รับความสะดวกมากขึ้น ทั้งยังเป็นการอนุเคราะห์พวกชาวบ้านให้ได้รับผลบุญกุศลจากการถวายผ้าบังสุกุลให้แก่เหล่าพระภิกษุอีกด้วย

ปัจจุบันผ้าบังสุกุลไม่ได้เป็นผ้าเปื้อนฝุ่นที่เขาทิ้งแล้วอย่างในสมัยพุทธกาล แต่เป็นผ้าที่ชาวบ้านนำมาถวายพระในงานต่าง ๆ เช่น งานศพ งานทอดผ้าป่า หรืองานกฐิน ผ้าที่นำมาถวายส่วนใหญ่เป็นผ้าที่ทำสำเร็จรูปมาจากร้านค้าแล้ว รูปแบบการถวายผ้าบังสุกุลในสมัยปัจจุบันก็ยังคงรูปแบบที่ใกล้เคียงกับสมัยพุทธกาลอยู่ กล่าวคือปัจจุบันผ้าบังสุกุลในงานศพก็เปรียบเสมือนผ้าที่ภิกษุแสวงหาตามป่าช้า และผ้าบังสุกุลที่ทอดในงานผ้าป่าหรืองานกฐินก็เปรียบเสมือนผ้าที่ภิกษุแสวงหาตามกิ่งไม้หรือตามถนนหนทางนั่นเอง

จุดมุ่งหมายของการทอดผ้าบังสุกุลนั้น ก็เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ โดยทอดวางผ้าไตรจีวร หรือผ้าผืนใดผืนหนึ่งในบรรดาผ้าไตรจีวรแด่พระสงฆ์ เพื่อให้ท่านพิจารณานำไปใช้ ซึ่งในงานฌาปนกิจ จะมีการใช้ภูษาโยงหรือด้ายสายโยง (สายสิญจน์) โยงจากโลงศพ หรือภาพผู้ล่วงลับมายังพระ แล้วทอดผ้าให้ท่านพิจารณาเปรียบเสมือนสมัยพุทธกาลที่ชาวบ้านทิ้งผ้าไว้ตามป่าช้า เป็นผ้าที่เขาแขวนไว้บ้าง หรือเป็นผ้าของคนที่เสียชีวิตแล้วบ้าง บทสวดมนต์ที่นำมาสวดพิจารณาผ้าบังสุกุล จึงเกี่ยวข้องกับความไม่เที่ยงของสังขาร

ในปัจจุบัน แม้การทอดผ้าบังสุกุลในงานศพจะมีรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ด้วยจิตศรัทธาของ พุทธศาสนิกชนที่มีอย่างไม่ขาดสายและยังคงรักษาประเพณีนี้ไว้ แม้จะไม่เหมือนดังสมัยพุทธกาลก็ตาม แต่ทั้งนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของคนในสังคมและเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสังคมด้วยรูปแบบการถวายผ้าบังสุกุลต่าง ๆ ที่จัดทำขึ้นก็ยังคงมีพระภิกษุสงฆ์เป็นผู้รับผ้าบังสุกุลเหมือนเดิม ดังนั้นการถวายผ้าบังสุกุลจึงเป็นความเชื่อและความศรัทธาอย่างหนึ่ง ที่ยังฝังลึกอยู่ในจิตใจของชาวพุทธอย่างแนบแน่นและปฏิบัติต่อเนื่องมาจนกลายเป็นประเพณีการทอดผ้าบังสุกุล 

อ้างอิงจาก ณัฐจันทร์หนูหงส์ และมนตรีสิระโรจนานันท์ 

+