0
0.00
การทำบุญให้ผู้ล่วงลับ และการทำบังสุกุลคืออะไร
การทำบุญให้ผู้ล่วงลับ และการทำบังสุกุลคืออะไร

หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับการทำบุญบังสุกุล ว่าเป็นการทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ 
เมื่อญาติสนิท มิตรสหาย หรือคนที่เรารักได้ลาจากไป การทำบุญให้แก่ผู้ล่วงลับหรือการทำบุญบังสุกุลนั้นก็ถือเป็นการระลึกถึงนั่นเอง

ซึ่งคำว่า บังสุกุล มีความหมายคือ ฝั่งแห่งฝุ่น กองฝุ่น คลุกฝุ่น เปื้อนฝุ่น เป็นคำใช้เรียกผ้าที่ภิกษุชักจากศพ หรือผ้าที่ทอดไว้หน้าศพ หรือผ้าที่ทอดไว้บนด้ายสายสิญจน์ ผ้าภูษาโยงที่ต่อมาจากศพด้วยการพิจารณากรรมฐานว่า ผ้าบังสุกุล โดยเรียกกริยาที่พระชักผ้าหรือพิจารณาผ้าเช่นนั้นว่า ชักผ้าบังสุกุล หรือ การพิจารณาผ้าบังสุกุล

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าไม่อนุญาตให้พระภิกษุรับผ้านุ่งห่มจากฆราวาส แต่ให้เก็บผ้าบังสุกุลหรือผ้าที่เขาทิ้งไว้ตามร้านตลาด หรือผ้าห่อศพที่ไม่มีผู้ใดปรารถนาเพราะสกปรก มาซักล้างให้สะอาด แล้วเก็บไว้เพื่อนำมาตัดเย็บเป็นผ้าผืนใดผืนหนึ่งที่ชำรุด เช่น ผ้านุ่งหรือผ้าสบง ผ้าห่มหรือผ้าจีวร ผ้าห่มซ้อนหรือสังฆาฎิ ในเวลาที่เหมาะสมต่อไป
แต่ต่อมา มีพระบรมพุทธานุญาตให้รับผ้าจากฆราวาสได้ เพื่อเจริญศรัทธาของผู้เลื่อมใส และบรรเทาความยากลำบากของพระภิกษุสงฆ์ในการแสวงหาผ้าอีกทางหนึ่งด้วย

ดังนั้น ด้วยความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่สืบต่อมานี้เอง เมื่อมีการทำบุญให้แก่ผู้ตายหรือผู้ล่วงลับ หลายคนจึงสามารถเข้าใจได้ว่าคือการทำบังสุกุลให้ผู้ล่วงลับ โดยจะมีการทำบุญด้วยสังฆทาน ปัจจัย และผ้าบังสุกุลถวายร่วมด้วย

 
ทั้งนี้ผ้าที่นิยมใช้ทำบุญบังสุกุลมักเป็นผ้าไตรจีวร หรืออาจจะใช้เป็นผ้าสบงก็ได้เช่นเดียวกัน
เพื่อเป็นการสร้างบุญกุศล อุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับ และระลึกนึกถึงผู้เป็นที่เคารพรักนี้เอง... 

ผู้เขียน ศรีเพชร ลิขิตสมบัติ

+