0
0.00
เข้าพรรษา พิธีกรรมของพระสงฆ์
เข้าพรรษา พิธีกรรมของพระสงฆ์

ใกล้ถึงวันเข้าพรรษาแล้ว บุญรักษาจึงอยากนำเสนอบทความน่ารู้ ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลเข้าพรรษานี้มาฝากกัน

วันเข้าพรรษา จัดเป็นพิธีกรรมของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา โดยท่านต้องประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัติ กล่าวคือ ข้อที่ตั้งขึ้นให้รู้ทั่วกัน การกำหนดเรียก การวางเป็นกฎข้อบังคับ ที่ทรงวางเป็นระเบียบข้อบังคับให้พระสงฆ์ต้องเข้าจำพรรษาในสถานที่ที่ทรงอนุญาตให้เข้าอาศัยอยู่ได้

และพิธีกรรมวันเข้าพรรษานี้ พุทธศาสนิกชนได้มีส่วนร่วมประกอบคุณงามความดีตามหน้าที่ของชาวพุทธ เพื่อช่วยเหลือพระสงฆ์อีกทางหนึ่งด้วย

โดยเข้าพรรษาจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เรียกว่า ครบไตรมาส คือ 3 เดือนนี่ถือเป็นการเข้า "พรรษาต้น" ส่วนการเข้า "พรรษาหลัง" เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

พิธีกรรมของสงฆ์ ก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา มีดังนี้

- พระท่านจะทำการซ่อมแซมเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้อยู่ในสภาพที่ดี ที่ใช้อยู่อาศัยได้

- จัดการปัดกวาดหยากไย่ เช็ดถูให้สะอาด สาเหตุที่ต้องกระทำเสนาสนะให้มั่นคงและสะอาด ก็เพื่อจะได้ใช้บำเพ็ญสมณกิจในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาได้เต็มที่ ไม่ต้องกลัวฝนจะรั่วรดอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์เสร็จแล้วจึงกระทำพิธีเข้าพรรษา โดยกล่าวอธิษฐานตั้งใจเพื่ออยู่จำพรรษา ตลอดฤดูฝนในวันของท่านที่ตั้งใจจะอยู่

ในส่วนของพิธีกรรมของพุทธศาสนิกชน อันเนื่องในวันเข้าพรรษา มีดังนี้

พุทธศาสนิกชนมีการกระทำบุญตักบาตรกัน 3 วัน คือ วันขึ้น 14 - 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 และขนมที่นิยมทำกันในวันเข้าพรรษา ได้แก่ ขนมเทียน และท่านสาธุชนที่มีความเคารพนับถือพระภิกษุวัดใด ก็จัดเครื่องสักการะ เช่น น้ำตาล น้ำอ้อย สบู่ แปรง ยาสีฟัน พุ่มเทียน เป็นต้น นำไปถวายพระภิกษุวัดนั้น

และยังมีสิ่งสักการะบูชาที่พุทธศาสนิกชนนิยมกระทำกันเป็นงานบุญน่าสนุกสนานอีกอย่างหนึ่งคือ "เทียนเข้าพรรษา" บางแห่งจะมีการบอกบุญเพื่อร่วมหล่อเทียนแท่งใหญ่ แล้วแห่ไปตั้งในวัดอุโบสถ เพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัยตลอดเวลา 3 เดือน การแห่เทียนจำนำพรรษา หรือเทียนเข้าพรรษาจัดเป็นงานเอิกเกริก มีฆ้องกลองประโคมอย่างสนุกสนาน และเทียนนั้นมีการหล่อหรือแกะเป็นลวดลายและประดับตกแต่งกันอย่างงดงามด้วย

เทศการเข้าพรรษา ถือกันว่าเป็นเทศกาลพิเศษมากสำหรับชาวพุทธ ผู้คนจึงขะมักเขม้นในการทำบุญกุศลยิ่งกว่าปกติ บางคนตั้งใจรักษาอุโบสถตลอด 3 เดือน บางคนตั้งใจฟังเทศน์ทุกวันพระตลอดพรรษา มีผู้ตั้งใจทำความดีต่าง ๆ พิเศษขึ้น

อีกทั้งมีผู้งดเว้นการกระทำบาปกรรมในเทศกาลเข้าพรรษา และคนอาศัยสาเหตุแห่งเทศกาลเข้าพรรษานี้ตั้งสัตย์ปฏิญาณละเลิกอบายมุกและความชั่วสามานย์ต่าง ๆ โดยตลอดไป นับได้ว่าเป็นคนที่ควรได้รับการยกย่องสรรเสริญและได้รับสิ่งอันเป็นมงคล..

 


ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

+
123movies