0
0.00
จัดหิ้งพระอย่างไรให้ปัง! เสริมสิริมงคลให้คนในบ้าน
จัดหิ้งพระอย่างไรให้ปัง! เสริมสิริมงคลให้คนในบ้าน

การจัดวางองค์พระพุทธรูปหรือองค์ประกอบต่าง ๆ บนหิ้งพระถือเป็นสิ่งที่หลายบ้านต่างก็ให้ความสำคัญ วันนี้เราจึงอยากพาเพื่อน ๆ มาดูวิธีการจัดวางหิ้งพระที่ถูกต้องเเละเหมาะสมกัน

หลักการจัดโต๊ะหมู่บูชาที่ใช้ในพิธีต่าง ๆ นั้น จะประกอบด้วย พระพุทธรูป พานพุ่มดอกไม้ แจกันดอกไม้ เชิงเทียน กระถางธูป 

แต่หากเป็นโต๊ะหมู่บูชาในบ้าน องค์ประกอบอื่นๆ จะเปลี่ยนไป บางบ้านอาจจะมีพระบูชามากกว่า 1 องค์ ทั้งพระพุทธรูป พระประจำวันเกิด พระอริยสงฆ์ พระเกจิอาจารย์ พระเครื่อง รวมถึงสัตว์บูชาตามความเชื่ออย่างองค์พญานาค ครุฑ เป็นต้น ซึ่งการจัดวางตามลำดับนั้นสามารถทำได้ดังนี้

1. พระพุทธรูป เป็นพระประธานที่อยู่ในตำแหน่งสูงสุด คือตัวแทนของพระพุทธเจ้า องค์พระศาสดาแห่งศาสนาพุทธ ที่นิยมบูชา ได้แก่ พระแก้วมรกต พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ เป็นต้น  

ระวังอย่าให้พระองค์อื่นในตำแหน่งต่ำกว่าหรือช่อดอกไม้บูชาอยู่ในระดับความสูงเกินกว่าองค์พระประธาน

2. พระอรหันต์ กรณีที่บ้านบูชา ให้วางในตำแหน่งรองลงมาจากพระพุทธรูป ส่วนใหญ่พระอรหันต์ที่นิยมบูชาในบ้าน ได้แก่ พระสารีบุตร พระอานนท์ พระราหุล พระสิวลี พระสังกัจจายน์ เป็นต้น

3. พระอริยสงฆ์ เป็นลำดับรองลงมา ที่นิยมบูชาในบ้าน ได้แก่ หลวงปู่ทวด หลวงปู่โต ซึ่งหากมีองค์พระพระอริยสงฆ์บูชาในบ้าน การจัดลำดับตามสมณะให้พิจารณาจากการละกายสังขาร แล้วลำดับตามความอาวุโส วางในฝั่งซ้ายขององค์พระพุทธองค์ ไล่มาฝั่งขวาตามลำดับ

4. รูปเหมือนสมมติสงฆ์ หรือพระเกจิอาจารย์ นอกจากนี้ในบางบ้านยังบูชาพระสมมติสงฆ์ตามศรัทธาส่วนบุคคล เช่น หลวงตามหาบัว หลวงพ่อคูณ เป็นต้น

5. พระบรมรูปพระมหากษัตริย์ไทย ลำดับต่อมาคือรูปเคารพ รูปปั้น ขององค์พระมหากษัตริย์ไทย

6. พระบรมสารีริกธาตุ / พระธาตุ ให้พิจารณาดูว่าเป็นพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์ใด หากเป็นของพระบรมสารีริกธาตุองค์พระพุทธเจ้าให้วางในตำแหน่งรองจากพระพุทธรูป แต่หากเป็นพระธาตุของพระอรหันต์ พระอริยสงฆ์ ให้วางรองลงมาเรียงตามลำดับเช่นกัน

7. อัฐิ รูปบูชาของบรรพบุรุษ หากจำเป็นต้องอยู่บนหิ้งเดียวกันกับองค์พระบูชาให้วางในตำแหน่งต่ำกว่าองค์พระ แต่หากมีพื้นที่สามารถแยกบูชาต่างหากได้

 

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก เว็บไซต์บ้านและสวน(baanlaesuan.com)

+